ความขัดแย้งภายในคณะราษฎรที่มีผลต่อหนังสือพิมพ์ (original) (raw)

สาเหตุของความแตกแยกภายในคณะราษฎร มีพื้นฐานสืบเนื่องมาจากความแตกต่างในอุดมการณ์ทางการเมืองของบุคคลชั้นหัวหน้าในคณะราษฎรเป็นสําคัญ การรวมตัวกันของคณะราษฎรเป็นที่น่าสังเกตว่า ประกอบด้วยบุคคลซึ่งมีแนวความคิดต่างกันอยู่มาก แต่เท่าที่สามารถรวมกลุ่มกันได้ในระยะแรก เป็นเพราะบุคคลเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายร่วมกันอยู่ คือ ความต้องการยึดอํานาจจากชนชั้นปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพื่อสถาปนารัฐบาลชุดใหม่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

ความขัดแย้งภายในคณะราษฎรอาจแบ่งได้กว้าง ๆ ได้ว่า เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม “หัวก้าวหน้า” ซึ่งมีหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นผู้นํา และเป็นที่นิยมเชื่อถือของนักการเมืองและข้าราชการกลุ่มหนุ่มเป็นจํานวนไม่น้อย และกลุ่มหัวเก่า ซึ่งมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาและพระยาทรงสุรเดชเป็นผู้นํา โดยมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในระบอบเก่า และพระบรมวงศานุวงศ์ให้ความสนับสนุน ส่วนพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นบุคคลที่อยู่กลาง ๆ และเป็นผู้เชื่อมโยงระหว่างกลุ่มทั้งสอง

สาเหตุของความขัดแย้งอีกประการหนึ่ง คือ ความบกพร่องของคณะราษฎรที่ไม่ได้วางแนวปฏิบัติภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไว้อย่างแน่ชัด ตั้งแต่ก่อนทําการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่ปรากฏว่าคณะราษฎรได้เคยมีการถกเถียงปัญหาขั้นอุดมการณ์หรือปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับนโยบาย หรือโครงการที่จะนํามาใช้หลังการปฏิวัติแต่อย่างใด เมื่อมีการประชุมกันครั้งใดก็มักจะถกเถียงกันเฉพาะเรื่องวิธีการยึดอํานาจเท่านั้น ดังนั้น เมื่อสมาชิกผู้ก่อการได้เข้าดํารงตําแหน่งทางการเมืองที่สําคัญภายหลัง จนประสบความสําเร็จจากการยึดอํานาจ ต่างฝ่ายจึงบริหารงานไปตามความเชื่อของตน กล่าวคือ ฝ่าย “หัวก้าวหน้า” นิยมความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนมีผู้เห็นว่าเป็นการนิยมความรุนแรง ซึ่งตรงกันข้ามกับฝ่าย “หัวเก่า” ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงแบบวิวัฒนาการและการกระทําที่ละมุนละม่อม

เมื่อคณะราษฎรจัดตั้งคณะรัฐบาล ได้เชิญพระยามโนปกรณ์นิติธาดาขึ้นดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเหตุที่เห็นว่าเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากข้าราชการในระบอบเก่า พอที่จะประสานรอยร้าวระหว่างฝ่ายที่นิยมระบอบเก่ากับฝ่ายนิยมระบอบใหม่ได้ กับทั้งยังได้แต่งตั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในระบอบเก่าหลายคนเข้าดํารงตําแหน่งสําคัญทางการเมือง ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้คนมองอย่างหวั่นวิตกว่า เป็นรัฐบาลของคณะปฏิวัติซึ่งมักมีนโยบายมุ่งไปในทางรุนแรง[1] ปรากฏว่าพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้บริหารประเทศตามแบบอนุรักษ์นิยมแบบเก่า โดยแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรอย่างจริงจังเลย ซึ่งทําให้ฝ่าย “หัวก้าวหน้า” ไม่พอใจ และเห็นพระยามโนปการณ์นิติธาดา เป็นพวกกษัตริย์นิยม ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาประกาศห้ามหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ห้ามลงข่าวอันเป็นการเสื่อมเสียแก่ราชวงศ์[2]

นอกจากนั้น รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดายังได้ตั้งกรมโฆษณาการขึ้นเผยแพร่การดําเนินงานของคณะราษฎร โดยมีหลวงสิริราชไมตรีเป็นหัวหน้ากองโฆษณาการ มีหน้าที่กลั่นกรองข่าวรัฐบาลที่จะปรากฏแก่สายตาประชาชน การตั้งกองโฆษณาการนี้มีผลดีกับรัฐบาลในแง่ที่สามารถเลือกข่าวที่ก่อให้เกิดผลดีแก่รัฐบาลฝ่ายเดียว หนังสือพิมพ์ซึ่งมีหน้าที่ในการสื่อสารข่าวคราวจากรัฐบาลทั้งข้อดีและข้อบกพร่อง จึงมีความเห็นว่า เป็นการควบคุมข่าวที่ไม่ยุติธรรม กรุงเทพฯ เดลิเมล์ โจมตีการตั้งกรมโฆษณาการว่า เป็นการปิดโอกาสหนังสือพิมพ์ในการไต่ถามข้าราชการที่เกี่ยวข้อง หนังสือพิมพ์มีหน้าที่รับข่าวรัฐบาลป้อนให้เท่านั้น กรุงเทพฯ เดลิเมล์ จึงเห็นว่ากรมโฆษณาการ ยังไม่มีประโยชน์สําหรับประเทศไทยในขณะนั้น โดยได้เหตุผลว่า

“...ที่ว่าไม่มีประโยชน์นั้น เราหมายถึงประโยชน์ของประชาชนซึ่งเราแน่ใจว่าจะได้ผล แต่ถ้าคิดถึงประโยชน์ของรัฐบาลแล้วนับว่ามีมาก เพราะรัฐบาลสามารถจำกัดข่าวต่าง ๆ ที่ไม่ประสงค์ให้ราษฎรทราบไว้ได้ทันท่วงที โดยเหตุนี้เราจึงมีความเห็นว่ากองการโฆษณานั้นควรดำริเลิกเสียดีกว่า ถ้าจะทําก็ต้องทําเป็นโครงใหญ่ให้จริงจังเหมือนอย่างที่เขาทําในนานาประเทศ และควรเป็นกระทรวงอิสสระ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงทนายหน้าหอของคณะรัฐบาล ถ้าเราทําโครงใหญ่อย่างที่นานาประเทศเขาทํานั้นไม่ได้ ก็ไม่ควรทําเลย เพราะนอกจากจะไม่มีประโยชน์แก่ประชาชนแล้ว ยังจะทําให้ประชาชนเสื่อมความ เลื่อมใสในรัฐบาลลงไปด้วย…”[3]

นอกจากนี้ รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดายังได้ออกประกาศห้ามข้าราชการ กระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ ยกเว้นบทความบางชนิดซึ่ง แปลจากต่างประเทศหรือสารคดีอื่น ๆ จะเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงของตน การห้ามข้าราชการเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ครั้งนี้มีผลกระเทือนต่อวงการหนังสือพิมพ์มาก เพราะความรู้ ข่าวสาร หรือบทความวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองของหนังสือพิมพ์ในเวลานั้น ได้มาจากข้าราชการผู้นิยมประชาธิปไตยอยู่ไม่น้อย เช่น ไทยใหม่ มีหลวงประกอบนิติสาร เป็นที่ปรึกษา รวมทั้งมีนักเขียนสําคัญ ๆ ที่เป็นข้าราชการหลายคน เช่น พระสารสาสน์พลขันธ์ (ผู้ใช้นาม แฝงว่า “๕๕๕”) พระสารสาสน์ประพันธ์ หลวงวิจิตรวาทการ เป็นต้น

นโยบายของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ทําให้หนังสือพิมพ์บางฉบับซึ่งไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับเหตุการณ์ทางการเมืองในครั้งนี้ถูกลงโทษถึง 6 ฉบับ ในช่วงสมัยแรกของรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา หนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่ถูกลงโทษประเดิมระบอบการปกครองใหม่ คือ หลักเมือง เพราะได้งบทความที่ขัดต่อนโยบายของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา กล่าวคือ หลักเมือง ได้ลงจดหมายที่ส่งมาจากคนไทยในประเทศจีน ชื่อ นายประสิทธิ์ บูรณสิงห์ แสดงความยินดีต่อการที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย และกล่าวโจมตี ข้าราชการ และพระราชวงศ์ในระบอบเก่าว่านําเงินแผ่นดินไปใช้ในกิจการส่วนตัว[4] พระยาเพ็ชรพิสัยศรีสวัสดิ์ สมุหพระนครบาล ได้สั่งปิด หลักเมือง 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 4 สิงหาคม ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์ พ.ศ. 2475 ซึ่งระบุโทษข้อหาเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินอันอาจเป็นภัยต่อความสงบของบ้านเมือง

การสั่งปิดหนังสือพิมพ์ หลักเมือง ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาควบคุมหนังสือพิมพ์ด้วยมาตรการที่รุนแรงกว่าที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าว เพราะไม่ได้ผ่อนผันโดยลงโทษเพียงให้ หลักเมือง นําข่าวไปตรวจก่อนนําไปพิมพ์ ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 7 แต่อย่างใด

หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่ถูกลงโทษอย่างไม่ยุติธรรม คือ สยามหนุ่ม[5] ซึ่งมีนายทองอยู่ ทิพาเสถียร เป็นบรรณาธิการ โดยถูกปิดโรงพิมพ์ถึง 20 วัน ด้วยข้อกล่าวหาว่า ลงบทความที่ส่อเจตนาทุจริตต่อรัฐบาลซึ่งกําลังอยู่ในความชื่นชมของมหาชน ไทยใหม่ แสดงความเสียใจต่อ สยามหนุ่ม และได้กล่าวโจมตีการกระทําของรัฐบาลครั้งนี้ว่า ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ซึ่งได้ระบุว่า “ให้อํานาจแก่เจ้าพนักงานที่จะผ่อนผันบรรเทาลง เพียงแต่นําข่าวมาให้เจ้าพนักงานตรวจเสียก่อน”[6]

นอกจาก หลักเมือง และ สยามหนุ่ม จะถูกลงโทษตามมาตรา 15 แล้ว ยังมีหนังสือพิมพ์อื่น ๆ อีกที่ถูกลงโทษด้วยข้อหาทํานองเดียวกัน การลงโทษหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์พระราชวงศ์ครั้งนี้ มีส่วนทําให้คณะราษฎร ฝ่าย “หัวก้าวหน้า” เห็นว่าพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นฝ่ายกษัตริย์นิยม ความขัดแย้งถึงขั้นแตกหักเมื่อหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจแก่รัฐสภา ซึ่งมีสมาชิกฝ่ายหัวเก่าดํารงตําแหน่งสําคัญ เช่น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (ประธานสภา) พลตรี พระยาอินทรวิชิต (รองประธาน) เป็นเหตุให้ฝ่าย “หัวเก่า” โจมตีเค้าโครงการเศรษฐกิจดังกล่าวอย่างรุนแรงว่าเป็นโครงการแบบคอมมิวนิสต์ เพราะมีหลักการในการโอนเครื่องมือในการผลิตมาเป็นของรัฐ

ความขัดแย้งในสภาระหว่างฝ่าย “หัวเก่า” และ “หัวก้าวหน้า” ในประเด็นนี้ได้เป็นไปอย่างรุนแรง มีผลให้รัฐบาลไม่สามารถคุมระเบียบและเสียงในสภาได้ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา จึงถือโอกาสสั่งปิดสภา งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้รับคําแนะนําให้เดินทางออกนอกประเทศ ในเวลาต่อมาเพื่อป้องกันความยุ่งเหยิงอันเกิดจากการถกเถียงเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจหลังจากยุบสภาแล้ว รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์เป็นครั้งแรก โดยได้ให้คําจํากัดความของลัทธิคอมมิวนิสม์ รวมทั้งได้ระบุโทษของผู้ที่สนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสม์ และนิยมคอมมิวนิสต์[7]

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังกล่าวมีผลให้หนังสือพิมพ์ได้รับความกระทบกระเทือนด้วย พระยาเพ็ชรพิสัยศรีสวัสดิ์ สมุหพระนครบาล ได้แจ้งไปยังเจ้าของโรงพิมพ์เป็นลายลักษณ์อักษรใจความว่า

“...ห้ามพิมพ์เอกสารซึ่งแสลงไปในทางการเมืองหรือนโยบายรัฐบาล หรือเหลื่อมไปใน ทางลัทธิคอมมูนิสต์ หากเอกสารใดที่สงสัยว่าอาจเป็นเช่นกล่าว ให้นําเสนอพิจารณาเสียก่อนพิมพ์ มิฉนั้นอาจสั่งปิดโรงพิมพ์ทันที…”

ท่าที่ของรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการกําจัด “ฝ่ายก้าวหน้า” โดยเฉพาะหลวงประดิษฐ์มนูธรรม โดยการ กล่าวหาหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นคอมมิวนิสต์ ดังนั้นการสนับสนุนหรือแสดงความชื่นชมหลวงประดิษฐ์มนูธรรม จึงกลายเป็นการกระทําที่เป็นคอมมิวนิสต์ และเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลไป ดังจะเห็นได้จากการที่หนังสือพิมพ์ หลักเมือง ถูกสั่งปิด 7 วันหลังจากลงบทความ “ส่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรม” ซึ่งให้ความเห็นขัดแย้งกับฝ่าย “หัวเก่า” ในเรื่องที่เกี่ยวกับเค้าโครงเศรษฐกิจว่า เป็นเค้าโครงซึ่ง หลักเมือง เห็นว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะนําความเสียหายมาสู่ประเทศแต่อย่างใด นอกจากนั้นได้กล่าวเป็นทํานองชื่นชมใน ตัวหลวงประดิษฐ์มนูธรรมว่า

“...โอกาสนี้ข้าพเจ้าผู้กล่าวแทนในนามคณะหนังสือพิมพ์ หลักเมือง ใคร่จะขอฝากข้อควรระลึก (ซึ่งถ้าแม้ว่าการไปของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม จะไม่เป็นหรือยังไม่ได้นึกคิดไว้เช่นนั้น) ไว้ว่าประชาชนชาวไทยยังคงหวังอยู่เสมอว่า จะได้เห็นเศรษฐธรรม และอุตสาหกรรมอันคุณหลวงจักได้เลือกเฟ้นเอาใช้ให้เหมาะแก่ประเทศสยามต่อไปข้างหน้า…”[8]

รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ถึงเหตุผลในการสั่งปิดหนังสือพิมพ์ หลักเมือง ครั้งนี้ว่า เป็นเพราะ หลักเมือง แสดงให้เห็นถึงเจตนาว่า นิยมโครงการหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นการขัดกับหลักการของรัฐบาลและรัฐมนตรีชุดนี้ ซึ่งเป็นความผิดเข้าลักษณะพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําอันเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศใช้เมื่อต้นเดือนเมษายน[9]

เมื่อ หลักเมือง เปิดดําเนินงานได้ใหม่ หลักเมือง ได้โต้ตอบรัฐบาลว่า จุดมุ่งหมายของหลักเมือง มุ่งที่จะขจัดเสี้ยนหนามแผ่นดิน และส่งเสริมนโยบายของรัฐบาล ดังนั้น หลักเมือง จึงมีหน้าที่โดยตรงในการแสดงความคิดเห็น ทักท้วงหรือส่งเสริมการ กระทําของรัฐบาล แต่การที่หนังสือพิมพ์จะยอมรับการกระทําทุกอย่างของรัฐบาลนั้น ย่อมทําให้หนังสือพิมพ์ขาดความเชื่อถือ และ หลักเมือง ได้กล่าวโจมตีหนังสือพิมพ์ที่กระทําตัวเป็นพวก “ขอรับกระผม” ว่า ไม่ได้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติแต่อย่างใด[10]

การที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาสั่งปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราโดยพลการ ทําให้สมาชิกผู้ก่อการส่วนใหญ่ มีพระยาพหลพลยุหเสนา พระยาฤทธิอัคเนย์ เป็นอาทิ ไม่พอใจ ดังนั้น ผู้นําในการเปลี่ยนแปลงการปกครองฝ่ายทหารซึ่งมีฉายาว่า “สี่ทหารเสือ” อันได้แก่ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์ พระประสาสน์พิทยายุทธ์ ได้ลาออกจากตําแหน่งรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2476 มีผลให้เกิดความระส่ําระสายขึ้นทั่วไป รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์สั้น ๆ เหมือนไม่ใช่เรื่องสําคัญที่ประชาชนควรให้ความสนใจแต่อย่างใด โดยนําจดหมายขอลาออกของสี่ทหารเสือมาลง มีใจความสําคัญ คือ ผู้ก่อการทั้งสี่เล็งเห็นว่าเสรีภาพทางการเมืองมั่นคงดีแล้ว อีกทั้งพระยาพหลพลพยุหเสนาให้เหตุผลว่าตนมีสุขภาพไม่ดีพอที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการได้ จึงขอลาออกจากตําแหน่ง[11]

การที่รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์เพียงสั้น ๆ ทั้งนี้ ควรให้รายละเอียดมากกว่านั้น มีผลให้ประชาชนสงสัยว่าคงจะมีเบื้องหลังทางการเมืองแอบแฝงอยู่ ประกอบกับหนังสือพิมพ์ต่างพากันลงข่าวและบทความอย่างครึกโครม ประชาชาติ[12] ได้ลงบทความ “ผู้ก่อกําเหนิดประชาธิปไตย” กระตุ้นให้ประชาชนสนใจข่าว และมีส่วนช่วยให้ประชาชนมีความแคลงใจในการลาออกของ “สี่ทหารเสือ” มากขึ้น โดยบทความได้ตําหนิคําแถลงการณ์ของรัฐบาลว่า ไม่ได้ช่วยให้ความข้องใจของประชาชนกระจ่างแต่อย่างใด ท้ายที่สุด ประชาชาติ แสดงความหวังว่า “สี่ทหารเสือ” จะกลับมารับใช้ประเทศอีก

“...เราไม่วายหวังว่า ในวันหนึ่ง ประชาธิปปตัยจะเหลียวชะแง้แลหาท่าน ในวันหนึ่ง ประชาธิปปตัยจะเรียกร้องต้องการตัวท่าน จะสวดอ้อนวอนให้ท่านกลับมาอีก ประชาธิปปตัยแห่งสยาม”[13]

บทความอีกบทหนึ่ง เป็นการลงบทสนทนาระหว่าง ประชาชาติ และพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร มีใจความเชิงเสียดสีการดําเนินงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลในเรื่องต่าง ๆ เช่น เรื่องการลาออกของ “สี่ทหารเสือ” บทความนี้ได้ลงความเห็นว่าจะต้องมีสาเหตุอื่น ๆ นอกเหนือจากที่ปรากฏในคําแถลงของรัฐบาล ซึ่งผลักดันให้ “สี่ทหารเสือ” ลาออก

“...การที่คนสําคัญทั้งสี่ได้ลาออกเช่นนี้ จะหวังให้ฝรั่งหรือไทยเชื่อง่าย ๆ ว่า เพราะลาออกด้วยเหตุป่วยก็ให้ออกตามสมัครใจเช่นนี้ เห็นจะเป็นความหวังเกินวิสัยของมนุษย์ที่เป็นวิญญูชน ทั้งนี้ไม่ขัดกับแถลงการณ์ของรัฐบาล เพราะรัฐบาลไม่ได้บ่งว่าเป็นเหตุอันเดียว เราต้องถือว่าเป็นเหตุอันหนึ่งเหตุผิวเผิน รัฐบาลต้องแถลงเหตุลึกซึ้งต่อไปและควรจะทําเสียโดยเร็ว เพราะเหตุลึกซึ้งนั้นมีข่าวลือต่างๆ นานา ซึ่งไม่น่าจะชอบกลนัก”[14]

ไทยใหม่ ได้แสดงความอาลัยในการลาออกของ “สี่ทหารเสื่อ” อย่างตรงไปตรงมา โดยให้เห็นถึงความสําคัญและคุณความดีของ “สี่ทหารเสือ ที่ได้ปฏิบัติมาซึ่งก่อให้เกิดผลดีต่อวงการเมืองไทย

“...ที่เรียบร้อยไม่เกิดเหตุลุกลามเป็นกลียุค หรือเดินทางไกลเกินไปกว่าที่ควรเดินนั้น ก็เพราะกําปั้นอันแข็งแรงของนายทหารทั้งสี่มาวางร่วมอยู่บนโต๊ะเดียวกัน…”[15]

บทความดังกล่าวข้างต้นทั้งใน ประชาชาติ และใหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ ซึ่งแสดงความอาลัยและเคลือบแคลงใจต่อการลาออกของ “สี่ทหารเสือ” ยังผลให้รัฐบาลหวั่นเกรงว่าอาจมีอิทธิพลน้อมนำความนึกคิดของประชาชนให้เสื่อมศรัทธาในรัฐบาล โดยเหตุนี้รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา จึงออกคําสั่งถอนใบอนุญาตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ และ ไทยใหม่ โดยกล่าวหาว่าหนังสือพิมพ์ทั้ง 2 ฉบับ ลงบทความเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินมีเหตุผลอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน[16]

การปิดหนังสือพิมพ์ฉบับที่เป็นที่เชื่อถือของประชาชน เช่น ประชาชาติ ทําให้ประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีความรู้เบื้องหลังทางการเมือง ย่อมคาดคะเนสถานการณ์การเมืองภายในได้ว่าคงไม่สงบนัก ทั้งการทําหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับประโคมข่าวการลาออกของ “สี่ทหารเสือ” ลงภาพและคําสัมภาษณ์ของพระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อออกจากราชการแล้ว โดยใช้คําที่มีความหมายเป็นนัย ๆ ย่อมทําให้ประชาชนเริ่มสังเกตเห็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองได้ชัดขึ้น

หลักเมือง ซึ่งปกติเป็นหนังสือพิมพ์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า และมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนรัฐบาลทุกสมัย แม้จะไม่มีบทความวิพากษ์วิจารณ์การลาออกของ “สี่ทหารเสือ” ที่เด่นชัด แต่ก็ได้กล่าวเตือนสติรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ให้ตระหนักถึงผลเสียหายที่เกิดจากการ ปิดหนังสือพิมพ์ครั้งนี้ว่า

“...การที่หนังสือพิมพ์ถูกปิดบ่อย ๆ ก็เปรียบเหมือนโรงเรียนมีการประชุมลงโทษนักเรียนอยู่เสมอ เมื่อเช่นนั้นคนกลางย่อมเห็นว่าโรงเรียนนั้นมีข้อบกพร่องขึ้นบ้าง ไม่ใช่นักเรียน ก็ต้องเป็นครู”[17]

การลงโทษหนังสือพิมพ์ในสมัยพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้เป็นไปอย่างกว้างขวาง ปรากฏว่า มีหนังสือพิมพ์ถูกลงโทษถึง 27 ฉบับด้วยกัน โดยไม่ปรากฏเลยว่า หนังสือพิมพ์ฉบับใดได้รับการผ่อนผันให้นําข่าวไปตรวจก่อนลงพิมพ์ ตามมาตราที่ 7 แห่งพระราชบัญญัติสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2475 แสดงให้เห็นว่า ทั้งที่กฎหมายควบคุมอยู่แล้ว รัฐบาลกลับใช้อํานาจเกินกว่าตัวบทกฎหมายเสียอีก

ที่มา: พรภิรมณ์ เอี่ยมธรรม, บทบาททางการเมืองของหนังสือพิมพ์ (พ.ศ. 2475-2488) (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2520), น. 44-51.


[1] Donald E. Neuchterlein, Thailand and the Struggle for South East Asia (N.Y. : Cornell University Press, 1965), p. 45.

“เหตุผลมีอยู่ว่าผู้นําทางทหารอาวุโสที่หัวเก่า ไม่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายและการบริหารอย่าง เด็ดขาด โดยเฉพาะถ้ามองในแง่ความเต็มพระทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในอันที่จะให้ความร่วมมือกับคณะ ราษฎร เหตุผลที่สําคัญและอาจจะเห็นชัดอีกประการหนึ่งของนโยบายผ่อนปรนของรัฐบาล คือ การเกรงไปว่า ประเทศ มหาอํานาจต่างชาติอาจจะไม่ยอมรับรัฐบาลใหม่ หากรัฐบาลมีท่าที่รุนแรงเกินไป”

(“The reason is that the older and conservative army leaders opposed a sharp change policy and of administration, especially in view of the King's willingness to co-operate with the people's party. Another important and perhaps crucial reason for the moderation with which the new government approached to tasks was the fear the foreign powers might not recognize it if it appeared oo radical.")

[2] ดู ศรีกรุง, 8 กันยายน พ.ศ. 2475.

[3] “อำนาจบงการและการตรวจข่าว” (บทนำ), ใน ประชาติ, 30 พฤษภาคม พ.ศ.2476.

[4] หลักเมือง, 30 กรกฎาคม 2475

[5] ไม่ปรากฏในหอสมุดแห่งชาติ, ได้จาก ไทยใหม่, 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2475.

[6] “รัฐบาลกับหนังสือพิมพ์” (บทนำ), ไทยใหม่, 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2475.

[7] ดูราละเอียด, ศรีกรุง, 4 เมษายน พ.ศ. 2476.

[8] “โสตึง” (นามแฝง), “ส่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรม”, หลักเมือง, 14 เมษายน 2476.

[9] 10 ฺธันวาคม, 15 เมษายน พ.ศ. 2476.

หนังสือพิมพ์ 10 ธันวาคม ฉบับปฐมฤกษ์ ออกวันเดียวกับการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 มีนโยบายเชิดชูรัฐธรรมนูญและสนับสนุนคณะราษฎร ไม่เห็นบทบาทในทางการเมืองชัดเจน เพราะออกได้ไม่นานก็เลิกกิจการไป (ดูภาคผนวก ก. ประกอบ)

[10] บทนำ, หลักเมือง, 20 เมษายน พ.ศ.2476.

[11] ฺประชาชาติ, 16 มิถุนายน พ.ศ. 2476.

[12] ดูภาคผนวก ก.

ประชาชาติ เป็นหนังสือพิมพ์ที่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนมากที่สุดฉบับหนึ่ง เพราะเป็นหนังสือพิมพ์ที่ดำเนินงานโดยนักหนังสือพิมพ์ที่ทรงคุณวุฒิและความสามารถหลายคน เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ มาลัย ชูพินิจ สนิท เจริญรัฐ เป็นอาทิ ทั้งยังมีพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร เป็นเจ้าของ ที่ปรึกษาและเขียนบทความเป็นประจำ ประชาชาติ เคยได้รับคำกล่าวขวัญว่าเป็นเสมือนหนังสือพิมพ์ไทม์ของไทย.

[13] “ผู้ก่อกำเนิดประชาธิปปตัย”(บทนำ), ประชาชาติ, 16 มิถุนายน พ.ศ. 2476.

[14] คอลัมน์ “คุยการเมืองกับท่านวรรณ”, ประชาชาติ, 17 มิถุนายน พ.ศ. 2476.

[15] “ทหารเสือทั้งสี่ลาออกจากตำแหน่ง,” ไทยใหม่, 14 มิถุนายน พ.ศ. 2476.

[16] ดูภาคผนวก ข.

[17] “วาสพ” (นามแฝง), “รัฐบาลกับหนังสือพิมพ์,” หลักเมือง, 2 มิถุนายน พ.ศ. 2476.