'วังหน้านฤมิตฯ' เปิดประวัติศาสตร์ซับซ้อนของวังหน้าใน 16 มุมมองศิลปินด้วยภาษาสมัยใหม่ - The Cloud (original) (raw)

นี่คือการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ที่น่าแปลก ใหม่ และน่าสนใจมาก

กรมศิลปากร โดย คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน ทำโครงการ ‘วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา’ ระหว่างวันที่ 6 มีนาคม – 28 เมษายน 2562 ที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ความน่าสนใจของงานนี้คือ การเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ที่อาจฟังดูไกลตัวให้น่าสนใจ ผ่านมุมมองใหม่ๆ และการใช้สื่อที่หลากหลายมาก

โครงการนี้ต่อเนื่องจากโครงการวังน่านิมิต ที่จัดเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีจิตติ เกษมกิจวัฒนา เป็นภัณฑารักษ์ ครั้งนั้นคุณใหม่ตั้งใจใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อในการนำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์

แต่คราวนี้คุณใหม่กล่าวว่า “อยากให้มองประวัติศาสตร์ไทยช่วงนี้จากหลากหลายมิติ”

ประวัติศาสตร์ช่วงที่ว่า คือช่วงที่สยามมีพระมหากษัตริย์ถึง 2 พระองค์พร้อมกัน คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่จริงๆ แล้วทั้งสองพระองค์ก็คือ ‘วังหลวง’ กับ ‘วังหน้า

ฟังเพียงเท่านี้คนรุ่นปัจจุบันอาจนึกไม่ออกว่าเรื่องนี้เกี่ยวอะไรกับฉัน คุณใหม่จึงคิดวิธีนำเสนอ เชิญคนเก่งจากสารพัดวงการ ทั้งศิลปิน ช่างเขียนรูป นักพัฒนาแอปพลิเคชัน นักพฤกษศาสตร์ นักร้องประสานเสียง นักทำหนัง ร็อกเกอร์ เชฟ สถาปนิก นักภาษาศาสตร์ ฯลฯ รวม 20 คน และ 1 คณะนักร้องประสานเสียง มาดูร่องรอยประวัติศาสตร์สำคัญช่วงหนึ่งของชาติไทย แล้วสร้างชิ้นงานตามความถนัด

จึงเกิดเป็นโครงการ ‘วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา’ และนิทรรศการ ‘นัยระนาบนอก อินซิทู : แปลงร่างอดีตในหลืบแห่งปัจจุบัน’ โดยมี นาตาลี บูแตง คุณใหม่ และแมรี่ ปานสง่า เป็นคณะภัณฑารักษ์

ใครจะเดาถูกว่าร็อกเกอร์มาดเข้มอย่าง ตุล อพาร์ตเมนต์คุณป้า หรือเชฟตาม Top Chef Thailand คนแรกของประเทศไทย เข้าไปดูประวัติศาสตร์วังหน้าแล้วสร้างผลงานอะไรขึ้นมา

คุณใหม่ออกตัวว่า “ไม่รู้เหมือนกันว่าเสียงตอบรับจากผู้ชมและนักวิจารณ์จะเป็นอย่างไร”

แต่เห็นด้วยไหมว่า แค่นี้ก็เท่ากับพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์การจัดนิทรรศการในประเทศไทยแล้ว

นอกจากนิทรรศการที่จัดยาว 2 เดือนเต็มแล้ว งานนี้ยังมีการจัดกิจกรรมพิเศษอันหลากหลายอีกหลายครั้ง ซึ่งทุกกิจกรรมไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ต้องลงชื่อจองที่นั่งล่วงหน้า ติดตามรายละเอียดแบบเต็มๆ ได้ที่ www.wangnaproject.com

ส่วนใครอยากไปร่วมงานนี้แบบสุดพิเศษกับ The Cloud ก็รอติดตามรายละเอียดของ Walk with The Cloud ได้เร็วๆ นี้

ก่อนจะไปดูกันว่างานนี้มีอะไรน่าไปดูบ้าง เราขอปูพื้นฐานเรื่อง ‘วังหน้า’ แบบสั้นๆ กันอีกสักที

หลากหลายชิ้นงานกับประวัติศาสตร์วังหน้า

หากจำไม่ได้หรือไม่รู้ว่าวังหน้าคืออะไร มาทบทวนกันอีกรอบ วังหน้า เป็นทั้งชื่อตำแหน่งและสถานที่ ตำแหน่งวังหน้า หรือกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เท่ากับเป็น ‘หมายเลขสอง’ ของประเทศ สำคัญรองลงมาจากพระมหากษัตริย์ผู้ครอบครอง ‘วังหลวง’

บุคคลที่ดำรงตำแหน่งวังหน้ามีอาณาเขตที่ใช้เป็นสถานที่ประทับเรียกว่าวังหน้าเช่นกัน สาเหตุที่เรียกชื่อเช่นนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานไว้ว่า เพราะตั้งอยู่ด้านหน้าของวังหลวง

สถานที่ที่คุณใหม่เลือกใช้จัดนิทรรศการครั้งนี้คือพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อันเป็นพระที่นั่งท้องพระโรงของวังหน้า สมัยก่อนห้องนี้ใช้สำหรับออกว่าราชการและต้อนรับแขกเมือง

แต่อาณาบริเวณที่เคยเป็นวังหน้าในอดีตนั้นกว้างใหญ่ เมื่อตำแหน่งวังหน้าถูกยกเลิกในสมัยรัชกาลที่ 5 พื้นที่วังหน้าส่วนใหญ่กลายเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร บางส่วนเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน

คุณใหม่เชิญศิลปินและผู้เชี่ยวชาญเข้าไปในพื้นที่วังหน้า แล้วให้แต่ละคน ‘สื่อสาร’ กับกลิ่นอายและร่องรอยประวัติศาสตร์ ตั้งคำถาม หาแรงบันดาลใจ และค้นคว้าเพิ่มเติม ก่อนลงมือสร้างงานตามความถนัดของตน The Cloud สรุปเนื้อหาของแต่ละผลงานมาให้อ่านพอเรียกน้ำย่อย สนใจเรื่องไหนก็ไปชมกันได้เลย

งานของศิลปิน

01

วังหน้านฤมิต

วังหน้านฤมิต

ชื่องาน : Untitled (state du miroir / the mirror stage)

รูปแบบงาน : แอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือผู้สร้างงาน : ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช (ศิลปิน)

งานนี้โน้มน้าวให้ผู้ชมมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญ และแสดงให้เห็นความสนใจที่จะล้มล้างวิธีเดิมๆ ในการปฏิสัมพันธ์กับงานศิลปะ ฤกษ์ฤทธิ์ไม่เชื่อว่าศิลปะกับชีวิตนั้นแยกส่วนกัน สำหรับนิทรรศการครั้งนี้ ฤกษ์ฤทธิ์พัฒนาแอปพลิเคชัน (Application) ที่โต้ตอบกับผู้ใช้งาน โดยออกแบบให้ใช้ร่วมกับกระจก 2 บานที่เป็นส่วนหนึ่งของวัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ในอดีตบานกระจกนี้ทำหน้าที่ 2 ประการด้วยกัน คือใช้ขับไล่วิญญาณชั่วร้าย และบางครั้งใช้เป็นฉากกั้นเขตส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์

เมื่อผู้ชมนิทรรศการวางโทรศัพท์ไว้ในตำแหน่งระหว่างตนเองกับบานกระจก ภาพตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นจะปรากฏและรำพึงรำพันเพื่อสะท้อนเรื่องราวการสำรวจและค้นหาตัวตน

02

วังหน้านฤมิต วังหน้านฤมิต วังหน้านฤมิต

ชื่องาน : เรือนร่างของสิ่งที่ไม่มีอยู่นั้นเป็นรูปทรงกลม

รูปแบบงาน : ห่วงเหล็กสลักตัวอักษร ลูกแก้วปรอท และเป่าและเจียรนัยแก้ว
ผู้สร้างงาน : นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ (ศิลปิน)

งานชิ้นนี้สะท้อนความคิดเรื่องถิ่นที่อยู่ อัตลักษณ์ และการโยกย้าย นิพันธ์แสวงหาแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของพระราชวังบวรสถานมงคล โดยเฉพาะจากลูกแก้วปรอทที่จัดแสดงในนิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ศิลปินเคลื่อนย้ายลูกแก้วปรอท หรือ Mercury Ball (วัตถุสะสมของพิพิธภัณฑ์) ที่แต่เดิมจัดแสดงอยู่ในพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ มาจัดแสดงในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ลูกแก้วจำลองถูกทำขึ้นเพื่อนำไปจัดแสดงในพื้นที่เดิม ผิวลูกแก้วที่เป็นกระจกสะท้อนให้เห็นพื้นที่ที่จัดนิทรรศการและผู้เข้าชม เป็น ‘หน้าที่’ เดียวกับครั้งอดีตที่เจ้าพนักงานมองเงาสะท้อนบนลูกแก้วในห้องเสวยเพื่อถวายการรับใช้เมื่อมีพระราชประสงค์

ลูกแก้วปรอทถูกจัดวางสร้างบทสนทนากับห่วงโลหะ 2 วงที่สลักเนื้อเพลง ลาวแพน เป็นภาษาไทยและภาษาลาว เนื้อเพลงพรรณนาถึงชีวิตชาวลาวในราชอาณาจักรสยามสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว งานศิลปะของนิพันธ์เชื้อเชิญให้ผู้ชมย้อนเวลากลับสู่สมัยวังหน้าไปพร้อมๆ กับพินิจพิจารณาบทบาทของความเป็นพิพิธภัณฑ์แบบดั้งเดิมที่ถูกมองว่าเข้าถึงได้ยาก

03

วังหน้านฤมิต วังหน้านฤมิต

ชื่องาน : Fourteenรูปแบบงาน : สีอะคริลิกบนกระดาษ

ผู้สร้างงาน : อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ (ศิลปิน)

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมและพื้นที่ภายในของพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยทำให้อุดมศักดิ์มองเห็นความเชื่อมโยงของตัวอาคารหลังนี้กับสถาปัตยกรรมโบสถ์หรืออาสนวิหาร อุดมศักดิ์นึกถึงรูปแบบและโครงสร้างของ The 14 Stations of the Cross หรือ มรรคาศักดิ์สิทธิ์ (ทางสู่กางเขน) ภาพงานศิลปะศาสนาคริสต์ที่บรรยายถึงช่วงเวลาสุดท้ายในชีวิตพระเยซู กับเรื่องราวการเดินทางสู่การตรึงกางเขน ที่มักพบเห็นในรูปแบบของภาพเขียน แผ่นโลหะ หรือหินสลัก ที่ปรากฏอยู่ระหว่างช่องทางเดินในโบสถ์หรืออาสนวิหาร

ผลงานภาพสีบนกระดาษ 15 ชิ้นของอุดมศักดิ์ ที่เกิดขึ้นจากการนำเอาวัสดุเก็บตกส่วนตัวมาใช้ แสดงให้เห็นการเปลี่ยนผ่านวัตถุที่สร้างให้เกิดการอ่านและการทำความเข้าใจมากกว่าความเป็นวัตถุเหล่านั้น ภาวะการมองเห็นผลงานที่มีอยู่ร่วมกันระหว่างการเปิดเผยและปกปิดพื้นผิว สามารถอธิบายถึงช่วงเวลาของการร่วงหล่น และในขณะเดียวกันก็นำเสนอภาพช่วงเวลาระหว่างการก่อกำเนิดและการเติมเต็ม ความเชื่อ ความศรัทธา และความรู้สึกสัมผัส สะท้อนกันไปมาระหว่างตำแหน่งแห่งที่ของศิลปิน การมีชีวิตอยู่ การลาจาก และการเคลื่อนที่ของเวลา ผลงานแสดงตนเสมือนชั้นผิวที่เพิ่มซ้อนขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ ที่มีการเคลื่อนตัวและเปลี่ยนแปลง ไม่ต่างจากสภาวะร่างกายที่แต่ละบุคคลต่างมีประสบการณ์ร่วม

04

วังหน้านฤมิต วังหน้านฤมิต

ชื่องาน : ////////รูปแบบงาน : ภาพยนตร์ 16 มม. ความยาว 2.39 นาที

ผู้สร้างงาน : ธณัฐชัย บรรดาศักดิ์ (ศิลปิน)

สำหรับนิทรรศการครั้งนี้ ธณัฐชัยสร้างงานภาพยนตร์ 16 มม. ผ่านการทำงานของคนสวนประจำโรงละครแห่งชาติ ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ผู้ชมมองเห็นมือคนสวนกำลังขูดลอกพืชพรรณออกจากร่องระหว่างแผ่นปูพื้นคอนกรีต จากร่องหนึ่งไปอีกร่องหนึ่ง ศิลปินมองเห็นการกระทำที่อาศัยช่องว่างที่อยู่ระหว่าง เป็นเหมือนการสัมผัสกับพืชพรรณที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เปรียบเสมือนการผลัดเปลี่ยนของสิ่งที่อยู่บนพื้นผิวชั้นนอก คล้ายคลึงกับผิวหนังของสิ่งมีชีวิต

ศิลปินนึกถึงพื้นดินที่ถูกตัดขวางลึกลงไปจนเห็นชั้นธรณีต่างๆ ที่สามารถทำให้เราสืบค้นอดีตจากชั้นเหล่านี้ โครงสร้างบางอย่างอาจจะแทบมองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง แต่พื้นผิวในปัจจุบันได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญของการค้นหาคำตอบ หรือการมองเห็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

05

วังหน้านฤมิต

วังหน้านฤมิต

ชื่องาน : unlock

รูปแบบงาน : กระดาษเคมีในตัวจากเครื่องนาฬิกายาม
ผู้สร้างงาน : ปรัชญา พิณทอง (ศิลปิน)

ผลงานสร้างสรรค์ชิ้นนี้เชื้อเชิญให้ผู้ชมร่วมแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวกับศิลปิน วิธีของเขาไม่ต้องการคำบรรยายใดๆ งานของปรัชญาสร้างสถานการณ์เพื่อเร้าผัสสะต่างๆ ของผู้ชม เล่าเรื่องโดยใช้หลากหลายวิธีการ ผลลัพธ์ที่ได้คือ การสื่อสารระหว่างผู้สร้างและผู้เสพงานศิลป์ เติมเต็มกระบวนทัศน์ของความเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ผู้ชมเข้าใจและเข้าถึงชิ้นงานที่จัดแสดงได้

นิทรรศการครั้งนี้ปรัชญาเลือกแสดงความคิดผ่านนัยของพฤติกรรมมนุษย์ ทุกวันจะมีการระบุคำสำคัญ (Keyword) เพื่อให้ผู้ชมแจ้งแก่ห้องขายตั๋ว สำหรับใช้เป็นรหัสเข้าพิพิธภัณฑ์ได้ฟรี ในบริเวณนิทรรศการ ร่องรอยเวลานี้จะถูกบันทึกไว้โดยเจ้าหน้าที่และจัดแสดงไว้ตลอดระยะเวลาที่จัดนิทรรศการ

06

วังหน้านฤมิต วังหน้านฤมิต

ชื่องาน : 2.2.1861

รูปแบบงาน : หมึกบนกระดาษ
ผู้สร้างงาน : หยัง โว (Dahn Vo) (ศิลปิน)

หยัง โว นำเสนอผลงานที่ชื่อว่า 2.2.1861 เป็นผลงานบนกระดาษชิ้นต่อเนื่องที่ศิลปินขอให้พ่อของเขาซึ่งมีฝีมือในการเขียนและคัดลอกตัวอักษรช่วยคัดลอกข้อความภาษาฝรั่งเศสจากจดหมายลาฉบับสุดท้ายที่นักบุญ Jean-Théophane Vénard มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสในเวียดนาม ส่งถึงพ่อของตนใน ค.ศ. 1861 เฟือง โว พ่อของหยัง โว ไม่เข้าใจภาษาฝรั่งเศส แต่ด้วยความบรรจงในการสร้างตัวอักษรของเฟือง โว สามารถคัดลอกและถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกในเนื้อความของจดหมายจากลูกชายถึงพ่อ

และด้วยกระบวนการในการสร้างงานชิ้นนี้ที่เป็นเหมือนสิ่งเชื่อมความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างศิลปินกับพ่อ เนื้อความในจดหมายที่พูดถึงการสูญเสียและการลาจาก ถูกบรรยายเปรียบเปรยไว้ด้วยภาษาและเรื่องเล่าที่งดงาม ขนานไปกับความเชื่อและความศรัทธา สะท้อนประวัติศาสตร์ของการมีอยู่ และความเป็นไปในเงื่อนไขของพื้นที่อื่นๆ

07

วังหน้านฤมิต วังหน้านฤมิต

ชื่องาน : One Million Years

รูปแบบงาน : หนังสือขนาด 14.4 x 10.5 ซม. 2 เล่ม
ผู้สร้างงาน : ออน คาวารา (On Kawara) (ศิลปิน)

ความสนใจของ ออน คาวารา (On Kawara) ในเรื่องที่ว่าสังคมมนุษย์กำหนดกติกาเรื่องวันเดือนปีเพื่อทำให้ ‘เวลา’ เป็นสิ่งจับต้องได้นั้น แสดงให้เห็นผ่านงานเขียนสองเล่มภายใต้ชื่อชุดว่า One Million Years เล่มแรกคือ Past เขียนอุทิศแด่ ‘เพื่อนมนุษย์ผู้ล่วงลับไปแล้ว’ ครอบคลุมช่วงเวลาระหว่าง 998,031 ปีก่อนคริสต์ศักราช จนถึงคริสต์ศักราช 1969 ส่วนเล่มที่สอง Future เขียนอุทิศแด่ ‘ผู้มีชีวิตอยู่เป็นคนสุดท้าย’ เริ่มตั้งแต่คริสต์ศักราช 1993 จนถึงคริสต์ศักราช 1,001,992 บางส่วนของหนังสือเล่มนี้ถูกอ่านออกเสียงในหลายสถานที่ทั่วโลกตามความประสงค์ของศิลปิน ในนิทรรศการครั้งนี้จึงจัดให้มีการอ่านออกเสียงหนังสือดังกล่าวของคาวาราด้วย โดยความอนุเคราะห์จาก mfc-michèle didier ปารีส

งานของผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ

08

วังหน้านฤมิต วังหน้านฤมิต

รูปแบบงาน : ถอดรหัสความหมายพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ผู้สร้างงาน : ผศ. ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ (นักภาษาศาสตร์), บุญเตือน ศรีวรพจน์ (นักประวัติศาสตร์และกวี), พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณฯ (ชวิน รังสิพราหมณกุล หัวหน้าพราหมณ์ สังกัดกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง) และ พงศ์ศิษฏ์ ปังศรีวงศ์ (นักการทูต)

คนไทยเราเชื่อว่า ‘ชื่อ’ ศักดิ์สิทธิ์ การตั้งชื่อเท่ากับเป็นการกำหนดอนาคตของเจ้าของชื่อ หากเป็นชื่อประมุขของประเทศ ยิ่งต้องพิถีพิถันกว่าชื่อสามัญชน คำถามคือ พระนามพระมหากษัตริย์มีความหมายอะไรซ่อนอยู่ ทีมนักภาษาศาสตร์ประกอบด้วย ผศ. ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ, บุญเตือน ศรีวรพจน์ พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณฯ และ พงศ์ศิษฏ์ ปังศรีวงศ์ จึงร่วมกัน ‘ถอดรหัส’ ความหมายพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเข้าใจหลากหลายนัยที่แฝงอยู่ รวมทั้งบทบาทและความสำคัญของนามเฉพาะในวัฒนธรรมไทย

กิจกรรม : เสวนาผัสสะแห่งสิ่งที่จับต้องไม่ได้: นัยแห่งพระปรมาภิไธย

วันจัดกิจกรรม : 10 มีนาคม 2562 เวลา 10.00 น. ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
รายละเอียดกิจกรรม : คุณสิริกิติยา เจนเซน ผู้อำนวยการโครงการวังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา เริ่มต้นบทสนทนาโดยชวนคุยถึงบทบาทของภาษาที่ส่งผลต่อการพัฒนาแนวคิดหลักของนิทรรศการครั้งนี้ หลังจากนั้นจะเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่าง ผศ. ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ และ อาจารย์บุญเตือน ศรีวรพจน์ ทั้งสองท่านจะได้ร่วมกันวิเคราะห์นัยแห่งพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ชวนคุยเรื่องความสำคัญของชื่อต่างๆ ในวัฒนธรรมไทย พร้อมทั้งพาผู้ฟังร่วมค้นหาคำตอบว่ามีอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลังพระนามแห่งกษัตริย์
ค่าใช้จ่าย : ไม่มีค่าใช้จ่าย
สมัครร่วมกิจกรรม : ปิดรับสมัครแล้ว

09

วังหน้านฤมิตรูปแบบงาน : การแสดงขับร้องประสานเสียง โดยคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู
ผู้สร้างงาน : คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู

คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลูเป็นคณะนักร้องประสานเสียงประเภทขับร้องโดยไม่มีดนตรีบรรเลงประกอบ (A Cappella) ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2543 มี ดุษฎี พนมยงค์ เป็นผู้อำนวยการคณะ คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลูจะแสดงทั้งสิ้น 4 เพลง ซึ่งเรียบเรียบเสียงประสานและปรับแต่งสำหรับการแสดงในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยโดยเฉพาะ โดยจะแสดง 3 รอบ

กิจกรรม : การแสดงขับร้องประสานเสียง และวงเสวนา: มองประวัติศาสตร์ผ่านสายตานักดนตรี

วันจัดกิจกรรม : 16 มีนาคม 2562 เวลา 14.00 น. ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
รายละเอียดกิจกรรม : เริ่มต้นด้วยเสียงเพลงขับกล่อมจากคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ก่อนร่วมพูดคุยกับ ‘ครูดุษ’ ดุษฎี พนมยงค์ ผู้อำนวยการคณะฯ และ คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน ผู้อำนวยการนิทรรศการวังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา เพื่อตอบคำถามว่า การผสานเทคนิคสมัยใหม่เข้ากับเทคนิคดั้งเดิมทำให้ดนตรีกลายเป็นสื่อร่วมสมัยในการเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์อันซับซ้อนได้อย่างไร
ค่าใช้จ่าย : ไม่มีค่าใช้จ่าย

วันจัดกิจกรรม : 30 มีนาคม และ 20 เมษายน 2562 เวลา 14.00 น. ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

รายละเอียดกิจกรรม : การแสดงขับร้องประสานเสียง (ไม่มีเสวนา)
ค่าใช้จ่าย : ไม่มีค่าใช้จ่าย
สมัครร่วมกิจกรรมวันที่ 16 มีนาคม 2562 : เต็มแล้ว
สมัครร่วมกิจกรรมวันที่ 30 มีนาคม 2562 : เต็มแล้ว
สมัครร่วมกิจกรรมวันที่ 20 เมษายน 2562 : เต็มแล้ว

10

วังหน้านฤมิต วังหน้านฤมิต

ชื่องาน : The Ghost of Wang Na : การอ่านบทเพลงยาว พระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระปิ่นเกล้า ประกอบเพลงอิเล็กทรอนิก

รูปแบบงาน : เพลง
ผู้สร้างงาน : ตุล ไวฑูรเกียรติ (กวี / นักแต่งเพลง / นักดนตรี) และ Marmosets (นักดนตรี)

ตุล ไวฑูรเกียรติ ศิลปินวงอพาร์ตเมนต์คุณป้า และ Marmosets ได้รับเชิญมาร่วมค้นหาแง่มุมเกี่ยวกับดนตรี ตุลชอบสังเกตวิถีชีวิตเเละพฤติกรรมมนุษย์ เคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า สิ่งที่มีมาก่อนเราเกิดนั้นมีอยู่จริงหรือเป็นเพียงแค่มายา ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้คือ The Ghost of Wang Na : การอ่านบทเพลงยาว พระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระปิ่นเกล้า ประกอบเพลงอิเล็กทรอนิก ได้รับเเรงบันดาลใจจากสิ่งที่ตุลเเละ Marmosets สนใจ คือเพลงเเละดนตรีซึ่งเป็นภาษาสากล เเละมีความเป็นอกาลิโก ความงามของสุ้มเสียงเเละอักษรในอดีต เกิดขึ้น ตั้งอยู่เเละดับไป เสียงต่างๆ ยังคงให้อารมณ์แก่มนุษย์เเตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับรสนิยมเเละประสบการณ์ในการใช้ชีวิต

11

วังหน้านฤมิต วังหน้านฤมิตรูปแบบงาน : การจัดทำแผนที่แบบมีส่วนร่วม: ตามรอยความทรงจำท้องถิ่นของวังหน้า จากการทำเวิร์กช็อปร่วมกับนักเรียนและนักศึกษา
ผู้สร้างงาน : สุพิชชา โตวิวิชญ์ และ ชาตรี ประกิตนนทการ

สุพิชชา โตวิวิชญ์ และ ชาตรี ประกิตนนทการ เป็นสถาปนิกผู้สนใจประวัติศาสตร์ของพื้นที่ อาจารย์ชาตรีและอาจารย์สุพิชชาได้ร่วมกันทำเวิร์กช็อปแบบต่อเนื่อง โดยทำงานร่วมกับนักเรียนระดับชั้นมัธยมปลายและมหาวิทยาลัย เพื่อบันทึกความเปลี่ยนแปลงจากอดีตถึงปัจจุบันลงบนแผ่นกระดาษในรูปแบบแผนที่

อาจารย์ทั้งสองเลือกเน้นเรื่องราวช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่วังหน้า คือการก่อสร้างถนนราชดำเนิน ด้วยความหวังว่าเด็กๆ จะช่วยกันทำงานและร่วมมือกับชาวบ้านในชุมชนต่างๆ เพื่อบันทึกทั้งสิ่งที่เห็นด้วยตาและได้รับฟังจากคำให้สัมภาษณ์ จนกระทั่งเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่

12

วังหน้านฤมิต วังหน้านฤมิตรูปแบบงาน : ไปรษณียบัตรสำหรับแจกผู้เข้าชมนิทรรศการ
ผู้สร้างงาน : กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ (นักพฤกษศาสตร์)

กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ เป็นนักพฤกษศาสตร์ผู้ชื่นชอบงานจิตรกรรมฝาผนัง อาจารย์กิติเชษฐ์เดินสำรวจภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์และวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) อยู่หลายวัน เพื่อรำลึกความทรงจำส่วนตัวในวัยเด็กที่เติบโตในย่านบางกอกน้อย

จากมุมมองของนักพฤกษศาสตร์ อาจารย์กิติเชษฐ์เชื่อว่าต้นไม้ ดอกไม้ต่างๆ มีเรื่องเล่าที่เรายังไม่รู้ การศึกษาพรรณไม้ที่แฝงอยู่ในภาพจิตรกรรมฝาผนังก็เท่ากับศึกษาประวัติศาสตร์ นิทรรศการครั้งนี้จึงมีการจัดทำไปรษณียบัตรหลากหลายแบบเพื่ออวดความรุ่มรวยของพรรณไม้ในภาพจิตรกรรม และเกร็ดเก่าสารพันที่แต่ละพืชพันธุ์บรรจุไว้เต็มใบ

13

วังหน้านฤมิต วังหน้านฤมิต

ชื่องาน : Curtain (พระวิสูตร)

รูปแบบงาน : ผ้าม่านสำหรับห้องจัดแสดงนิทรรศการ (ห้องมุขกระสัน)
ผู้สร้างงาน : จารุพัชร อาชวะสมิต (นักออกแบบสิ่งทอ)

จารุพัชร อาชวะสมิต เป็นผู้สร้างสรรค์ผ้าม่านที่ใช้ในห้องมุขกระสัน (ห้องจัดแสดงนิทรรศการ) โดยได้แรงบันดาลใจจากความเก่าแก่ของพื้นผิวอันเกิดจากความชื้นและความร้อน จารุพัชรกล่าวว่า นั่นคือลวดลายที่แสดงสัจธรรมของวัสดุผ่านกาลเวลา ทำให้อยากสร้างวัสดุใหม่ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในปัจจุบันที่แสดงให้เห็นสัจธรรมดังกล่าว

อีกแรงบันดาลใจหนึ่งคือลักษณะการแบ่งพื้นที่ทางกายภาพระหว่างพื้นที่ของพระมหากษัตริย์และสามัญชนด้วยที่กั้นลักษณะต่างๆ เช่น พระวิสูตร (ม่าน) กำแพง ฉากกั้น บันได ที่ประทับ พระวิสูตรทำจากวัสดุอ่อนพลิ้ว ซึ่งหากสามัญชนจะเดินผ่านเข้าไปก็ทำได้โดยง่าย แต่พระวิสูตรทรงไว้ซึ่งอำนาจมากกว่าความแข็งแรง จึงทำหน้าที่กั้นพื้นที่ได้อย่างศักดิ์สิทธิ์

กิจกรรม : Part of The Past

วันจัดกิจกรรม : 23 และ 30 มีนาคม 2562 เวลา 14.00 – 15.00 น. ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
รายละเอียดกิจกรรม : เมื่อเราเห็นปัจจุบันเราก็จะเห็นอดีต ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ระดับพันธโมเลกุลของสสารก็เปลี่ยนตลอดเวลา ทำให้สสารผุกร่อน เปลี่ยนสี เพราะพันธโมเลกุลอ่อนแรง เราอาจมองไม่เห็นเพราะมันเกิดขึ้นช้ามาก เพื่อให้เห็นกระบวนการความเสื่อมสภาพนี้ ศิลปินจึงตัดชิ้นงานให้สั้นลง ซึ่งสุดท้ายจะเผยให้เห็นถึงประตูลงรักปิดทองของมุขกระสันซึ่งเป็นแรงบันดาลใจของชิ้นงาน เมื่อเอาม่านมาบังจึงเปรียบได้กับปัจจุบันที่บังอดีต การตัดผ้าม่านออกจึงเป็นการเผยให้เห็นถึงอดีต และจะแจกชิ้นผ้าม่านให้ผู้ร่วมงานเป็นที่ระลึก
ค่าใช้จ่าย : ไม่มีค่าใช้จ่าย

14

วังหน้านฤมิต วังหน้านฤมิตรูปแบบงาน : ชุดเก้าอี้ที่ใช้ในห้องจัดแสดงนิทรรศการ (ห้องมุขกระสัน)
ผู้สร้างงาน : สุวิชชา ดุษฎีวนิช (ประติมากรสร้างสรรค์ตามลักษณะงาน – Functional Sculptor)

สุวิชชา ดุษฎีวนิช เป็นผู้สร้างสรรค์ชุดเก้าอี้ที่จัดแสดงในมุขกระสัน พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ในงานนิทรรศการครั้งนี้ ส่วนใหญ่แล้วสุวิชชาทำงานกับศิลปะจัดวางในลักษณะของงานโครงสร้างแบบสามมิติ ด้วยกระบวนการขั้นตอนและวิธีคิดตามงานช่างไทยที่ผสมผสานการใช้รูปทรงและโครงสร้างทั้งจากวัสดุ เครื่องมือ และรูปแบบทางสถาปัตยกรรมไทยในลักษณะต่างๆ

15

วังหน้านฤมิต วังหน้านฤมิตรูปแบบงาน : อาหารตำรับโบราณสำหรับนำกลับบ้าน พร้อมสูตรอาหาร และมื้อพิเศษในรูปแบบ Chef’s Table
ผู้สร้างงาน : ชุดารี เทพาคำ (เชฟตาม)

ชุดารี เทพาคำ หรือ เชฟตาม เป็น Top Chef Thailand คนแรกของประเทศไทย เชฟตามตั้งใจเล่าเรื่องประวัติศาสตร์วังหน้าในสมัยรัตนโกสินทร์จากมุมมองของเชฟรุ่นใหม่ ผ่านวัฒนธรรมของอาหารชาววัง หรือที่สมัยก่อนเรียกกันว่า ‘กับข้าวเจ้านาย’ โดยทำอาหารตำรับโบราณห่อเล็กๆ สำหรับให้ผู้ชมนำกลับบ้านพร้อมสูตรอาหาร ซึ่งมีทุกวันตลอดนิทรรศการ

วันจัดกิจกรรม : 27 เมษายน 2562 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

รายละเอียดกิจกรรม : ไฮไลต์ของงานนี้คือการจัดเลี้ยงมื้อพิเศษในรูปแบบ Chef’s Table โดยเชฟตามได้รังสรรค์อาหารจานใหม่จากตำรับเก่าแก่สมัยศตวรรษที่ 19 ส่วนเมนูจะมีอะไรบ้าง มาชิมกันได้ในทริป Walk with The Cloud วันที่ 27 เมษายน 2562

16

วังหน้านฤมิตรูปแบบงาน : การตั้งชื่อนิทรรศการ นัยระนาบนอก อินซิทู: แปลงร่างอดีตในหลืบแห่งปัจจุบัน (In Situ From the Outside: Reconfiguring the Past In-Between the Present)
ผู้สร้างงาน : สายัณห์ แดงกลม

สายัณห์ แดงกลม เป็นนักประวัติศาสตร์ศิลปะ อาจารย์สายัณห์ได้รับเชิญจากคณะภัณฑารักษ์และคณะทำงานให้เป็นผู้ตั้งชื่อนิทรรศการครั้งนี้ ที่จะพาผู้ชมกลับสู่อดีตโดยใช้ศิลปะร่วมสมัยเป็นสื่อ จึงได้ตั้งชื่อนิทรรศการนี้ว่า In Situ From the Outside: Reconfiguring the Past In-Between the Present หรือ นัยระนาบนอก อินซิทู: แปลงร่างอดีตในหลืบแห่งปัจจุบัน

รายละเอียดนิทรรศการวังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา

ร่วมเปิดประวัติศาสตร์อันซับซ้อนของพระราชวังบวรสถานมงคล กับศิลปินร่วมสมัยและผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา

6 มีนาคม – 28 เมษายน 2562 ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ศิลปินร่วมสมัย: ธณัฐชัย บรรดาศักดิ์, ออน คาวารา, อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ, นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์, ปรัชญา พิณทอง, ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช และ หยัง โว

ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ: จารุพัชร อาชวะสมิต, ประพจน์ อัศววิรุฬหการ, พงศ์ศิษฏ์ ปังศรีวงศ์, บุญเตือน ศรีวรพจน์ พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ, คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู, สายัณห์ แดงกลม, ชุดารี เทพาคำ, สุวิชชา ดุษฎีวนิช, กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ, สุพิชชา โตวิวิชญ์, ชาตรี ประกิตนนทการ, ตุล ไวฑูรเกียรติ และ Marmosets